วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557


ความหมายของคำสันธาน
คำสันธาน  หมายถึง  คำที่ใช้เชื่อมประโยค หรือข้อความกับข้อความ  เพื่อทำให้ประโยคนั้นรัดกุม  กระชับและสละสลวย  เช่นคำว่า และ  แล้ว  จึง  แต่  หรือ  เพราะ  เหตุเพราะ  เป็นต้น เช่น
เขาอยากเรียนหนังสือเก่งๆ แต่เขาไม่ชอบอ่านหนังสือ
เขามาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก
ชนิดของคำสันธาน

คำสันธานแบ่งเป็น  ๔  ชนิด ดังนี้
๑. คำสันธานที่เชื่อมความคล้อยตามกัน  ได้แก่คำว่า  และ  ทั้ง...และ  ทั้ง...ก็ ครั้น...ก็  ครั้น...จึง  ก็ดี  เมื่อ...ก็ว่า  พอ...แล้ว เช่น
ทั้งพ่อและแม่ของผมเป็นคนใต้
พอทำการบ้านเสร็จแล้วฉันก็นอน
๒. คำสันธานที่เชื่อมความขัดแย้งกัน  เช่นคำว่า  แต่  แต่ว่า  กว่า...ก็  ถึง...ก็ เป็นต้น  เช่น
ผมต้องการพูดกับเขา แต่เขาไม่ยอมพูดกับผม
-   กว่าเราจะเรียนจบเพื่อนๆ ก็ทำงานหมดแล้ว
๓. คำสันธานที่เชื่อมข้อมความให้เลือก  ได้แก่คำว่า  หรือ  หรือไม่  ไม่...ก็ หรือไม่ก็  ไม่เช่นนั้น  มิฉะนั้น...ก็  เป็นต้น  เช่น
นักเรียนชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์หรือภาษาไทย
เธอคงไปซื้อของหรือไม่ก็ไปดูหนัง
๔ คำสันธานที่เชื่อมความที่เป็นเหตุเป็นผล  ได้แก่คำว่า  เพราะ  เพราะว่า ฉะนั้น...จึง  ดังนั้น  เหตุเพราะ  เหตุว่า  เพราะฉะนั้น...จึง  เป็นต้น เช่น
นักเรียนมาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก
เพราะวาสนาไม่ออกกำลังกายเธอจึงอ้วนมาก
หน้าที่ของคำสันธาน  มีดังนี้คือ
๑.  เชื่อมประโยคกับประโยต เช่น
เขามีเงินมากแต่เขาก็หาความสุขไม่ได้
พ่อทำงานหนักเพื่อส่งเสียให้ลูกๆ ได้เรียนหนังสือ
ฉันอยากได้รองเท้าที่ราคาถูกและใช้งานได้นาน
๒.  เชื่อมคำกับคำหรือกลุ่มคำ เช่น
สมชายลำบากเมื่อแก่
เธอจะสู้ต่อไปหรือยอมแพ้
ฉันเห็นนายกรัฐมนตรีและภริยา
๓.  เชื่อมข้อความกับข้อความ เช่น
ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่เมืองไทย เขาขยันหมั่นเพียรไม่ยอมให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เขาจึงร่ำรวย จนเกือบจะซื้อแผ่นดินไทยได้ทั้งหมดแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายจงตื่นเถิด จงพากันขยันทำงานทุกชนิดเพื่อจะได้รักษาผืนแผ่นดินของไทยไว้




ความหมายของคำอุทาน
คำอุทาน  หมายถึง  คำที่แสดงอารมณ์ของผู้พูดในขณะที่ตกใจ  ดีใจ  เสียใจ  ประหลาดใจ หรืออาจจะเป็นคำที่ใช้เสริมคำพูด  เช่นคำว่า  อุ๊ย  เอ๊ะ  ว้าย  โธ่  อนิจจา  อ๋อ  เป็นต้น  เช่น
เฮ้อ!  ค่อยยังชั่วที่เขาปลอดภัย
   -  เมื่อไรเธอจะตัดผมตัดเผ้าเสียทีจะได้ดูเรียบร้อย
ชนิดของคำอุทาน
คำอุทานแบ่งเป็น  ๒  ชนิด ดังนี้
๑.  คำอุทานบอกอาการ  เป็นคำอุทานที่แสดงอารมณ์  และความรู้สึกของผู้พูด  เช่น
ตกใจ             ใช้คำว่า         วุ้ย  ว้าย  แหม  ตายจริง
ประหลาดใจ    ใช้คำว่า         เอ๊ะ  หือ  หา
รับรู้ เข้าใจ      ใช้คำว่า         เออ  อ้อ  อ๋อ
เจ็บปวด           ใช้คำว่า         โอ๊ย  โอย  อุ๊ย
สงสาร เห็นใจ   ใช้คำว่า         โธ๋  โถ  พุทโธ่   อนิจจา
ร้องเรียก          ใช้คำว่า         เฮ้ย   เฮ้   นี่
โกรธเคือง        ใช้คำว่า         ชิชะ   แหม
๒.  คำอุทานเสริมบท เป็นคำอุทานที่ใช้เป็นคำสร้อยหรือคำเสริมบทต่างๆ คำอุทานประเภทนี้บางคำเสริมคำที่ไม่มีความหมายเพื่อยืดเสียงให้ยาวออกไป บางคำก็เพื่อเน้นคำให้กระชับหนักแน่น  เช่น
เดี๋ยวนี้มือไม้ฉันมันสั่นไปหมด
หนังสือหนังหาเดี๋ยวนี้ราคาแพงมาก
พ่อแม่ไม่ใช่หัวหลักหัวตอนะ
หน้าที่ของคำอุทาน  มีดังนี้คือ
๑.  ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกของผู้พูด  เช่น
ตายจริง!  ฉันลืมเอากระเป๋าสตางค์มา
โธ่! เธอคงจะหนาวมากละซิ
เอ๊ะ! ใครกันที่นำดอกไม้มาวางไว้ที่โต๊ะของฉัน
๒.  ทำหน้าที่เพิ่มน้ำหนักของคำ  ซึ่งได้แก่คำอุทานเสริมบท  เช่น
ทำเสร็จเสียทีจะได้หมดเรื่องหมดราวกันไป
เมื่อไรเธอจะหางงหางานทำเสียที
เธอเห็นฉันเป็นหัวหลักหัวตอหรืออย่างไร
๓. ทำหน้าที่ประกอบข้อความในคำประพันธ์  เช่น
แมวเอ๋ยแมวเหมียว
มดเอ๋ยมดแดง

กอ เอ๋ย กอไก่

แหล่งที่มา   http://xn--22ceik4cvaj1fxe6bq2rle.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น